ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี RBRU e-Culture

ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับสืบค้นข้อมูล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี " หินเทิน "

 หินเทิน
 หินเทิน

หินเทิน

ที่ตั้ง

หินเทิน (หินทรงตัว) เขาพระบาทพลวง จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ หรือเขาพระบาทพลวง ตำบลพลวง กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี การเข้าถึงพื้นที่ทำได้โดยใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเล็ก เริ่มจากสี่แยกถนนสุขุมวิทตัดกับถนนเข้าตัวจังหวัดจันทบุรี วิ่งขึ้นเหนือไปตามเส้นทางเข้าน้ำตกกระทิง จนถึงบ้านกระทิง พอเลยวัดกระทิงไปประมาณครึ่งกิโลเมตร เลี้ยวขวาที่ปากทางซึ่งมีป้ายบอกทางไปวัดพลวง เดินทางต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้าย เส้นทางจะผ่านทางแยกและตัววัดพลวง ตรงไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ จนถึงสันเขื่อนบ้านพลวง ตามเส้นทางขึ้นไปบนสันเขื่อนด้านติดเทือกเขาสูงใหญ่ที่เรียกว่า เขาสอยดาวใต้ รวมระยะทางช่วงนี้จากแยกเข้าจังหวัดจันทบุรี 24 กิโลเมตร ณ จุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นเขาพระบาทพลวง การเดินทางต่อไปถนนจะค่อนข้างแคบและไม่ได้ลาดยาง ช่วงแรกจะตัดตรงขึ้นตามสันเนิน ราบๆ แล้ว ตัดวกไปวนมาไต่ขึ้นเขา ซึ่งบางตอนราบ แต่ส่วนใหญ่จะสูงชัน จึงต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อที่อยู่ในสภาพค่อนข้างดี จนถึงลานพระสีวลี ซึ่งสามารถจอดรถได้ประมาณ 15 คัน รวมระยะทางจากสันเขื่อนถึงลานจอดรถประมาณ 6 กิโลเมตร ทางสายนี้ในฤดูฝนไม่สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ ต้องเดินเท้าเท่านั้น จากลานพระสีวลีต้องเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ตามทางลาดขึ้นสู่ส่วนใต้สุดของสันเขา ซึ่งวางตัวในแนวเหนือใต้ และเป็นจุดที่ตั้งของหินเทิน รอยพระพุทธบาทและรูปรอยจำหลักโดยธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ กัน

ลักษณะของแหล่ง

หินเทินมีลักษณะเป็นหินก้อนกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เมตร วางตั้งอยู่บนพื้นหินแกรนิตของยอดเขาพระบาทพลวง ซึ่งเป็นยอดหนึ่งของเทือกเขาสอยดาว เทือกเขาสอยดาววางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วยยอดสูง ๆ หลายยอด และมียอดสูงสุดอยู่ที่ระดับ 1084 เมตร จากระดับน้ำทะเล หินเทินพบ 2 แห่ง ตรงปลายจะงอยด้านใต้ของสันเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร ตัวหินเทินวางอยู่บนพื้นหินแกรนิต ซึ่งมีลักษณะนูนโค้ง เอียงเทไปทางทิศเหนือเล็กน้อย สอดรับกับฐานของหินเทินซึ่งมีลักษณะแบนเว้า เอียงเทเข้าร่องกันอย่างพอเหมาะ เหมือนมีใครจับเอาก้อนหินขึ้นมาวางไว้บนยอดเขา ตรงพื้นหินใกล้ๆ กับบริเวณที่หินเทินตั้งอยู่ มีรอยกระเทาะของเปลือกหินเป็นรูปร่างต่าง ๆ ร่องรอยรูปหนึ่งมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ได้รับการเรียกชื่อว่า รอยพระพุทธบาทเนื่องจากการวางตัวของหินเทินที่เขาพระบาทพลวงหรือชื่อใหม่เรียกเขาคิชฌกูฏ บนเทือกเขาสอยดาวใต้เป็นการวางตั้งอยู่บนพื้นที่เอียงเท ดังนั้นก้อนหินเทินนี้จึงอยู่ในลักษณะที่ล่อแหลม เสมือนจะกลิ้งหลุดออกไปจากพื้นในวันใดวันหนึ่งก็ได้ ลักษณะเช่นนี้ทางธรณีวิทยาเรียกว่า หินทรงตัว (Balancing rock)

การเกิด

หินเทินเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามของธรรมชาติที่จะทำให้ระดับผิวโลกราบเรียบเสมอกัน เรียกว่าการเกลี่ยผิวแผ่นดิน (Denudation) โดยมีกระบวนการสำคัญที่ทำให้ผิวโลกราบเรียบ คือ การผุพังอยู่กับที่ (Weathering) การกร่อน (Erosion) การแตกหลุดของมวลเศษหิน และการพัดพาเศษที่แตกหลุดออกไปจากแหล่งกำเนิด ไปสะสมตัวตามพื้นที่ต่ำหรือแอ่ง เพื่อให้พื้นที่ต่ำนั้นตื้นขึ้น ผลดังกล่าวจะทำให้พื้นที่หรือพื้นผิวหินที่ถูกทำลายมีสภาพผิดไปจากสภาพเดิม ตามลักษณะความคงทนของเนื้อหิน และวิธีการทำลาย หินเทินเป็นลักษณะหนึ่งของหินเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ ณ แหล่งกำเนิดเทือกเขาสอยดาวเป็นเทือกเขาหินแกรนิตมวลไพศาล (Granite batholith) เกิดขึ้นจากหินหนืด (Magma) ที่เหลวร้อนภายใต้โลกและมีปริมาณมหาศาล แทรกซอนดันตัวขึ้นมาใกล้ผิวโลก แล้วแข็งตัวเป็นหินแกรนิตครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตารางกิโลเมตร แกรนิตมวลไพศาลนี้เกิดขึ้นในยุคจูแรสซิกหรือประมาณ 190 ล้านปีมาแล้ว ต่อมาการเปลี่ยนแปลงเปลือกโลกทำให้พื้นผิวโลกบริเวณแกรนิตมวลไพศาลยกตัวเป็นพื้นที่สูง แล้วพื้นที่สูงนี้ได้รับการเกลี่ยระดับให้ราบลง หินส่วนที่ปกคลุมหินแกรนิตมวลไพศาลถูกทำลายลงก่อนจนหมดไป แกรนิตมวลไพศาลจึงโผล่พ้นจากการปกปิด และถูกทำลายจากตัวกลางต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ซึ่งทำให้เนื้อหินแกรนิตแตกออกเป็นกาบ (Exfoliation) เหมือนกาบกะหล่ำปลี น้ำเป็นตัวกัดเซาะทำลายให้เนื้อหินส่วนที่มีรอยแตก รอยแยก หลุดออกจากกันง่ายยิ่งขึ้น น้ำและแรงโน้มถ่วงทำให้ส่วนที่หลุดจากกันแยกตัวออกไป หากเนื้อหินโดยเฉพาะหินอัคนีซึ่งมีเนื้อสมานแน่นเป็นเนื้อเดียวกันไม่มีรอยแตก (Joint) ผิวหินที่โผล่พ้นจากพื้นดินจะมีรูปลักษณะหน้าเรียบ โค้งมน แต่หากมีรอยแตก รอยแยก หรือรอยเลื่อน (Fault) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีหลายทิศทางตัดกัน มวลหินจะแตกหลุดจากกัน ในสภาพลักษณะที่เป็นก้อนโค้งมน ขนาดของก้อนขึ้นอยู่กับความถี่ห่างของรอยแตกรอยแยกนั้น ๆ ว่ามีขนาดเท่าใด ทิศทางของรอยแยก รอยแตก รอยเลื่อน อาจมีได้ตั้งแต่ตั้งฉาก เอียงเป็นมุมต่าง ๆ จนถึงแนวนอน ในกรณีที่มีรอยแยกในแนวนอนเกิดขึ้นร่วมด้วยนั้น การทำลายในแนวนอนจะเป็นไปได้ช้ากว่าแนวอื่น ๆ เนื่องจากถูกปิดทับและน้ำหนักที่กดทับ ดังนั้นผิวส่วนที่สัมผัสกับบรรยากาศ จึงถูกทำลายให้มนกลมเปลี่ยนลักษณะไปในขณะที่ส่วนฐานยังไม่เปลี่ยนลักษณะ เมื่อก้อนหินส่วนที่อยู่รอบข้างถูกนำพาออกไปจากแหล่งกำเนิด ก้อนหินส่วนที่เหลือบางก้อน จึงมีลักษณะเสมือนเป็นหินที่ได้รับการโยกย้ายมาจากที่อื่น มาวางไว้ ณ ที่แห่งนี้ (รูปหน้า 115 และรูปด้านล่าง) ทั้งที่ความเป็นจริงหินก้อนนี้คือส่วนหนึ่งของพื้นหินนั่นเอง ดังเช่น หินเทินที่เขาพระบาทพลวง

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่น

หินเทิน
เป็นหินก้อนกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เมตร วางตั้งอยู่บนพื้นหินแกรนิตของยอดเขาคิชฌกูฏ
หิน
กรมทรัพยากรธรณี
หินเทิน เขาพระบาทพลวง ธรรมชาติ
http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/dmr_web/main.php?filename=e03
นางสาวสุชารี แสงทอง แก้ไขล่าสุด 2020-12-22 09:35:54

ข้อมูลอื่นประจำหมวดหมู่

 หินเทิน
หินเทิน